วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556



น้ำหอมไทยโบราณ

ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย กลิ่นกายที่หอมกรุ่นก็ยังเป็นเสน่ห์ทางกาย และเสน่ห์ทางเพศอันบุรุษและสตรีพึงปรารถนา นับตั้งแต่บรรพบุรุษของเราได้ค้นพบการทำเครื่องหอมจากธรรมชาติ อาทิ น้ำอบ น้ำปรุง แป้งร่ำ แป้งพวง สีผึ้งทาปาก แป้งขมิ้น มาใช้ปรุงแต่งกลิ่นกายให้หอมหวนรัญจวนใจ

เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีจากแป้งร่ำที่เคยผัดบนหน้าให้นวลผ่องก็เปลี่ยนมาเป็นแป้งฝุ่นที่สาวๆใช้ตบให้หน้าขาวเด้ง สีผึ้งที่มีให้เลือกไม่กี่สีพัฒนาเป็นลิปสติกหลากเฉดสีให้เลือก กระทั่งน้ำอบ น้ำปรุงที่คนสมัยก่อนใช้ประพรมร่างกาย เสื้อผ้า หรือนำไปใส่บุหงาเพิ่มความหอมเปรียบเสมือนน้ำหอมโบราณก็ค่อยๆหายไป กลายเป็นว่าน้ำหอมต่างประเทศเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมแทนที่

อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มคนที่นิยมของไทยและหลงใหลในกลิ่นของพันธุ์พฤกษา หวนกลับมาให้ความสำคัญกับ "น้ำปรุงดอกไม้"หรือน้ำหอมโบราณของไทย อนุรักษ์ความหอมแบบไทยให้คงอยู่โดยมีกลิ่นอันแสนรัญจวนไม่แพ้น้ำหอมต่างประเทศ

น้ำหอมโบราณจากดอกไม้สด

น้ำปรุงดอกไม้ หรือน้ำหอมโบราณของไทย ใช้ความหอมของดอกไม้หอมหลากหลายชนิด ผสมกับสมุนไพรไทย เช่น พิมเสน ผิวมะกรูด ใบเตย แพร่อานุภาพความหอมไปพร้อมกับการบำรุงสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้น้ำปรุงแตกต่างไปจากน้ำหอมต่างประเทศ ซึ่งมีเพียงหัวน้ำหอมสกัดนำมาผสมกันเท่านั้น

เกศภนิศรณ์ เหล่าสินชัย คุณแม่ลูก 2 เจ้าของผลิตภัณฑ์เกศศณีศ์ ผู้หลงใหลในกลิ่นหอมของดอกไม้อันเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาความเป็นมาและขั้นตอนวิธีการทำน้ำปรุงดอกไม้ไทย

"น้ำหอมต่างประเทศราคาแพง ชอบกลิ่นดอกไม้ไทยๆ หอมสดชื่นจึงเริ่มศึกษาวิธีการทำน้ำปรุงอยู่ 2 ปี กระทั่งปี 2547 จึงหันมาทดลองทำน้ำปรุงเอง แรกๆก็หาวัสดุใกล้ตัว มีด เขียง ผ้าขาวบาง กลีบดอกไม้หอมของไทย"

หญิงสาวค่อยๆอธิบายวิธีการสกัดหัวน้ำหอมจากดอกไม้แต่ละชนิดตรงหน้าให้ฟังว่า

"กุหลาบมีหลายพันธุ์ ไม่นิยมกุหลาบขาว ใช้กุหลาบแดงแบบหอม สกัดเอาสีและกลิ่น ส่วนกุหลาบแดงแบบที่กลิ่นไม่หอมสกัดเพื่อเอาสีอย่างเดียว โดยค่อยๆเด็ดกลีบดอกระวังไม่ให้ช้ำจนหมด นอกจากกลีบดอก กระเปาะเต็มไปด้วยเกสรดอกไม้สามารถนำไปใช้ได้"

"ดอกมะลิ คัดดอกไปลอยน้ำแช่ทิ้งไว้ตอนกลางคืน โดยไม่ให้ชิดกันมาก พอรุ่งเช้าดอกบานก็ตักทิ้ง แล้วนำดอกมะลิชุดใหม่โรยแช่ทิ้งไว้ เย็นใส่ใหม่ รุ่งเช้านำออกมาทำซ้ำกัน 3 ครั้งจะได้น้ำดอกมะลิหอมๆทำเป็นส่วนผสมของน้ำปรุง ดอกปีบแช่น้ำก็มีกลิ่นหอม ช่วงเย็นๆการเวกกำลังออกดอกส่งกลิ่นหอมก็เก็บมาแช่ไว้"

ดอกไม้หอมอย่างอื่นที่โบราณนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอมกลิ่นต่างๆได้แก่ ดอกปีบ กระดังงา ราชาวดี พิกุล ลำเจียก ซึ่งหญิงสาวบอกว่าปัจจุบันลีลาวดีหรือดอกกล้วยไม้ก็สามารถนำมาสกัดหัวน้ำมันหอม แต่ได้ในปริมาณไม่มากเช่นเดียวกับดอกบัว ในจำนวนดอกไม้หอมทั้งหมด ดอกจันทน์กะพ้อจัดว่าหายากออกดอกเพียงปีละครั้งจึงนำมาแช่แอลกอฮอล์ทิ้งไว้จนเหลืองส่งกลิ่นหอมจึงจะนำออกมาเก็บใส่กระปุกเก็บไว้รอนำออกมาปรุง

เกศภนิศรณ์ชี้ไปยังขวดโหลขนาดต่างๆกันภายในบรรจุน้ำสมุนไพร พิมเสน ชะมดเช็ด เรียงรายเป็นระเบียบข้างๆขวดบรรจุหัวน้ำหอมดอกไม้ไทยกลิ่นต่างๆ พร้อมกับอธิบายว่าทั้งหมดคือส่วนผสมหลักในการทำน้ำปรุงดอกไม้

หญิงสาวคนเดิมอธิบายต่อไปพร้อมกับลงมือสาธิตให้การทำน้ำปรุงให้ดู เริ่มจากขั้นตอนการสกัดน้ำสมุนไพรจากใบเตยและผิวมะกรูด เลือกใบเตยชนิดหอม ใบแก่ๆมาหั่นขนาด 1-2 เซนติเมตร แช่ทิ้งไว้ในน้ำแอลกอฮอล์ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงตักออกมาพร้อมกับใส่ใบเตยชุดใหม่ลงไป หากต้องการกลิ่นหอมมากก็ทำซ้ำกันหลายครั้ง จากนั้นหั่นผิวมะกรูดลงไปแช่ 2-3 ครั้ง จึงกรองออกมาก็จะได้น้ำแอลกอฮอล์สีขาวเป็นสีเขียวเข้ม

ขั้นตอนต่อไปใส่พิมเสนลงในน้ำสมุนไพร จากนั้นใช้ไม้จิ้มชะมดเช็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวใส่ลงไปในใบพลูพร้อมกับผิวมะกรูด เพื่อทำการสะตุหรือการฆ่าเชื้อให้สะอาด

"ชะมดเช็ดขวดนิดเดียว 15 กรัมราคาพันกว่าบาท" เกศภนิศรณ์เล่าให้ฟัง ขณะที่ใช้เทียนลนไฟใต้ใบพลู เมื่อชะมดเช็ดละลายคะเคล้าผิวมะกรูด เปลี่ยนจากกลิ่นเหม็นคาวส่งกลิ่นหอมโชยมาแตะจมูกเป็นสัญญาณให้หยุดการลน พร้อมกับใส่ลงไปในน้ำสมุนไพร

ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นการนำเอาน้ำสมุนไพรดังกล่าวมาผสมกับหัวน้ำหอมดอกไม้ ส่วนจะเป็นกลิ่นอะไรบ้างนั้นขึ้นอยู่กับนาสิกในการรับกลิ่นของแต่ละคนว่าจะชอบกลิ่นไหน บางคนอาจจะใส่กลิ่นเดียว หรืออาจจะนำเอาหลายๆกลิ่นมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วจึงเขย่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทิ้งไว้ 1 เดือนเพื่อให้หมดกลิ่นแอลกอฮอล์ นำมากรองให้ใส ใส่ขวดบรรุจุภัณฑ์เพื่อความสวยงาม

เพื่อความพิเศษกว่าน้ำหอมน้ำปรุงทั่วไป เกศภนิศรณ์ เผยว่าเธอได้นำเอาว่านสาวหลง ซึ่งเป็นว่านสิริมงคล แถมยังมีกลิ่นหอมใส่รวมไปด้วย "คิดว่าทำแล้วก็น่าจะทำไม่เหมือนใคร มีทั้งความหอมและเป็นสิริมงคลอยู่ในตัว"

เมื่อนำไปวางจำหน่าย น้ำปรุงที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้ามากที่สุดคือกลิ่นดอกไม้รวม รองลงมาคือกลิ่นดอกราชาวดี และกลิ่นดอกปีบ

"คนส่วนใหญ่ชอบน้ำหอมต่างประเทศ คนสมัยใหม่พอเห็นน้ำปรุงดอกไม้ไทยก็จะงงว่าคืออะไร แต่เท่าที่ลูกค้าตอบรับกลับมาก็ดี บางคนซื้อไปแตะเสื้อติดทั้งวัน หรืออย่างกลุ่มแม่บ้านเกษตรนิยมนำไปฉีดผ้าไหม กลับมาเล่าให้ฟังว่าเป็นที่ชื่นชอบของฝรั่ง ไปขายรามคำแหง เด็กวัยรุ่นชอบมาก ซื้อแล้วกลับมาซื้ออีก บางคนซื้อขวดเล็กขวดละ 40 บาทกลับไปหลายแพ็ก บางคนสั่งซื้อขนาด 20 ซีซี หรือ แพ็กคู่ 350 บาทถือว่าแพงสุดในร้าน ยอดขายถือว่าพออยู่ได้ ถ้ามีการตลาดดีๆคงเพิ่มยอดขาย" หญิงสาวเผยความในใจทิ้งท้ายว่า "ทำตรงนี้ภูมิใจที่ได้อนุรักษ์ของไทยๆ มันเป็นของไทยที่คนลืมไปแล้ว เรามารื้อฟื้น"

น้ำปรุงดอกไม้กลิ่นอโยธยา ล้านนา ฯลฯ

จันทนา ภู่เจริญ อาจารย์คณะคหกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษา พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องของเครื่องหอม ส่วนหนึ่งในวิชาที่เธอใช้สอนลูกศิษย์ กระทั่งปรุงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ "บ้านเก้ากลิ่น"

"ทำมา 10 กว่าปี โดยหน้าที่เป็นครูสอนวิชาเครื่องหอม ประกอบกับช่วงที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศฉลองอยุธยาเป็นมรดกโลก จึงได้ค้นคว้าเรื่องเครื่องหอมอย่างจริงๆจังๆ พบว่ามีมาตั้งแต่อยุธยา ตอนกลาง แต่เป็นการกล่าวถึงน้ำอบปรากฏในวรรณคดี ใบลาน ช่วงบ้านเมืองเจริญใช้น้ำอบไทย อบร่ำสไบ เจ้านายในวังนิยมใช้อบผ้า พอถึงรัตนโกสินทร์ตอนกลางมีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ พร้อมกับนำเข้าแอลกอฮอล์ พัฒนาจากน้ำอบมาเป็นน้ำปรุง"

อาจารย์จันทนาอธิบายการทำน้ำอบ เครื่องหอมในสมัยโบราณต่อไปว่า " อยุธยาใช้ความร้อนเรียกว่าอบร่ำ พอถึงรัชกาลที่ 5 ถึงเริ่มมีการกลั่นได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส บีบคั้นกับพืชที่มีเปลือกค่อนข้างหนา กลิ่นออกมาตามเซลล์ของผิว เช่นมะกรูด การใช้ความร้อน เช่นกระดังงา เอาไฟไปลนกระเปาะใต้กลีบให้ละลายน้ำมันหอมออกมา การใช้ไขมันวัวบริสุทธิ์ดูดกลิ่นดอกไม้ และพัฒนาการล่าสุดกับวิธีการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวเป็นที่นิยมเพราะให้ปริมาณของกลิ่นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาแพง"

จากปี 2530 ที่เธอเริ่มทำหน้าที่แม่พิมพ์ จำนวนดอกไม้ที่ใช้สอนมีเพียง 9 ชนิดได้แก่กุหลาบ มะลิ ลำเจียก พิกุล ชำมะนาด กระดังงา ดอกแก้ว พุทธชาด พิกุล จันทน์กะพ้อ ปัจจุบันเธอบอกว่าเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 กว่าชนิด อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ซึ่งต้องใช้ดอกไม้สดจำนวนมากด้วยเหตุนี้การนำดอกไม้สดมาใช้จึงมีให้เห็นน้อยลง คุณสมบัติของน้ำปรุงที่ดีต้องมีลักษณะสีเขียวใสมรกต มีกลิ่นหอมเย็น ไม่มีตะกอน กลิ่นติดทนนานเกิน 1 ชั่วโมง

"ใช้ดอกไม้จริงทำเป็นธุรกิจไม่ทัน กุหลาบ 1 ตันสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ 2.2 กิโลกรัม จึงใช้ดอกไม้น้อยลง หันมาซื้อหัวน้ำมันสกัดสำเร็จมาปรุงแทนดอกไม้ไทยเดี๋ยวนี้ใช้โครงสร้างกลิ่น เลียนแบบดอกไม้จริงโดยใช้โครงสร้างทางเคมี ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ไฮโดรเจน" นอกจากนี้หัวน้ำมันหอมบางชนิดยังต้องนำเข้าจากตุรกีและเมืองน้ำหอมอย่างฝรั่งเศส

เธอเล่าถึงความนิยมน้ำหอมแบบไทยๆว่า "เหมือนแฟชั่นขายได้ทุกกลิ่นพอๆกัน น้ำปรุงขายดีในงานวัฒนธรรม น้ำปรุงไม่นิยมโดด ไม่ใช้กลิ่นดอกไม้โดดๆ แต่จะใช้แต่ละกลิ่นชูโรง หลักๆ 3 กลิ่นตัวน้ำหอม ตัวตามและตัวท้าย ถ้าปรุงผิดกลิ่นเปลี่ยนต้องดูว่าจะให้กลิ่นอะไรนำ กลิ่นอะไรตามท้าย กลิ่นช่วยผสมผสานให้กลิ่นอื่นๆโชยออกมาแล้วปรุงตามนั้น"

"กลุ่มผู้บริโภคมีหลายกลุ่ม วัยรุ่นปรุงกลิ่นทันสมัย กำลังลองผสมผสานการปรุงด้วยดอกไม้ภาคต่างๆออกมาเป็นน้ำหอมตามภาคเช่นกลิ่นภาคเหนือ สุโขทัย อโยธยา ลับแล กลิ่นภาคเหนือเรียกว่ากลิ่นล้านนาปรุงออกมาให้สัมผัสได้ถึงดอกไม้ป่า ไอหมอก ความเย็น ส่วนกลิ่นสุโขทัยจะเป็นกลิ่นของสายน้ำ กลิ่นภาคอีสานยังไม่ได้นำรู้ว่ามีรากฐานวัฒนธรรมมาจากบ้านเชียง ก็จะทำกลิ่นหินดินทราย ตีโจทย์วัฒนธรรมประเพณีในแต่ละภาค รวมถึงดอกไม้ประจำภาคนำมาทำกลิ่นถามว่าใช่น้ำปรุงหรือไม่ คิดว่ากลายๆ ความเชื่อของคนน้ำหอมจะดูดีกว่าน้ำปรุง ซึ่งมองว่าเชยๆโบราณ ความรู้สึกไม่ทันสมัย จึงเรียกชื่อใหม่แต่ก็ยังเป็นน้ำปรุงอยู่ ทำอย่างไรให้คนนิยมของไทย ประกาศให้น้ำปรุงภูมิปัญญาไทยเป็นที่นิยม"

น้ำปรุงดอกไม้ในตลาดน้ำหอม

รวิวรรณ รุ่งเรือง เจ้าของร้านพีรญาแสดงความเห็นถึงความนิยมว่า "น้ำปรุงจริงๆก็คือน้ำหอมของคนโบราณที่ใช้ปะพรมร่างกาย หรือใส่ในบุหงา กลิ่นจะเข้มข้น ให้ความรู้สึกวังเวง บ้างรู้สึกหอมชื่นใจ โบราณเอาดอกไม้มาแช่แอลกอฮอล์ใช้เวลานานเป็นเดือน ปัจจุบันลัดขั้นตอนด้วยการนำเอาน้ำมันหอมมาใช้ผสมกัน ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ใช้น้ำมันหอมดอกไม้แทนดอกไม้สด ทำให้เกิดความเพี้ยนจากน้ำปรุงมาเป็นน้ำหอม"

"สงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำหอมต่างประเทศเข้ามามาก แทบไม่ต้องโฆษณา เป็นค่านิยมว่าโก้หรู ส่วนใหญ่แทบจะลืมน้ำอบน้ำปรุงกันแล้ว ออกจำหน่ายกลุ่มคนอนุรักษ์ไทยนำไปใช้ พอคนใกล้ชิดได้กลิ่นหอมชื่นใจจึงมาซื้อไปใช้บ้าง วิธีการนำไปใช้โดยหยดใส่ผ้าเช็ดหน้าเพื่อให้เจือจางหอมอ่อนๆ เวลาโชยมาหอมชื่นใจ มีเอกลักษณ์ไทยๆส่วนผสมของมะกรูด ใบเตย พิมเสน เมื่อดมแล้วให้ความรู้สึก โอ้โห้ ไทยมาก ชาวต่างชาตินิยมซื้อเป็นลิตร ซื้อไปกลับมาซื้ออีกถึงกับขอสูตร กลิ่นน้ำปรุงที่นิยมได้แก่กลิ่นจันทร์กะพ้อ กลิ่นรสสุคนธ์ และกลิ่นดอกปีบ"

สำหรับอาจารย์จันทนาแสดงความเห็นทิ้งท้ายถึงความนิยมน้ำหอมดอกไม้ไทยว่า "ขายความเป็นไทย ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ดี ตราบใดที่คนยังติดในรูปรสกลิ่น"

http://iam.hunsa.com/purevodka/article/22284
เนื้อหาจาก

สอนทำเทียนหอมลอยน้ำดอกลีลาวดี



วิธีการทำ เทียนหอม

วัสดุ วัตถุดิบหลักที่สำคัญ ได้แก่ พาราฟิน โพลีเอสเตอร์ น้ำหอม ไส้เทียน และสีเคลือบดอก โดยแหล่ง Supplier ที่สำคัญจะอยู่ในประเทศจีนและไต้หวัน

ขั้นตอนและกระบวนการผลิตเทียนหอม
สำหรับกระบวนการผลิตและขั้นตอนการผลิตสามารถจัดลำดับแผนกของการผลิตได้ดังนี้

1.พาราฟิน 1 กก.

2.บีแวกซ์ 1 ขีด

3.เทียนเหนียว 1 ขีด

4.สีเทียน หรือ สีน้ำมันผง

5.ใส้เทียน

6.หัวน้ำหอมกลิ่นที่ชอบ 15 cc

7.พิมพ์รูปต่างๆ

วิธีทำเทียนหอม

นำพาราฟินใส่ภาชนะตั้งไฟละลายจากนั้นใส่บีแว็กซ์และเทียนลงไป พอละลายเข้ากันใส่สีเทียน หรือสีน้ำมันผงให้สีอ่อนเข้มตามต้องการตักหยอดใส่พิมพ์เมื่อเทียนเริ่มแข็งตัว ใส่ใส้เทียนที่เตรียมไว้
วิธีทำใส้เทียนให้แข็ง ทำได้โดยนำฝ้ายดิบสำหรับทำใส้เทียนจุ่มลงในพาราฟิน ที่ต้มละลายแล้ว
จากนั้นดึงใส้เทียนให้ตึง พอแห้งจะได้ใส้เทียนเป็นเส้นตรง จากนั้นตัดตามยาวตามต้องการ


น้ำมันหอมระเหย เป็นสารอินทรีย์ที่มีองค์ประกอบสลับ-

ซับซ้อน ได้จากการสกัดน้ำมันที่พืชสมุนไพรสร้างขึ้น โดยเก็บไว้-

ในส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพร เช่น เมล็ด ดอก ใบ ผล เปลือก

ลำต้น หรือที่รากและเหง้า เป็นต้น

ลักษณะทั่วไป เป็นของเหลว ใส ไม่มีสีหรือมีสีอ่อน ๆ มี-

กลิ่นหอมเฉพาะตัว ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิปกติ เมื่อได้รับความ-

ร้อนน้ำมันจะระเหยได้ดียิ่งขึ้น

กลิ่น ของน้ำมันหอมระเหยจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป

ขึ้นกับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ใน

พืชสมุนไพรแต่ละชนิด เช่น น้ำมันตะไคร้หอม ประกอบด้วย

genaniol, citronella และ borneol ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติในการไล่-

แมลง หรือน้ำมันตะไคร้ประกอบด้วย citral, linalool และ

geraniol ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติช่วยในการขับลม แก้จุกเสียด

เป็นต้น

พรรณไม้หอมไทย2010ตอน2

พรรณไม้หอมไทย2010ตอน1


ประเทศไทยมีไม้ดอกหอมหลากหลายชนิดที่อาจนำมาสกัดสารหอมเพื่อใช้ในธุรกิจสปา และ สุวคนธบำบัดได้ เช่น พิกุล แก้ว กระดังงา ปีบ ฯลฯ ซึ่งกลิ่นหอมจากดอกไม้เหล่านี้ที่เป็นของแท้จากธรรมชาติยังมีน้อยมากในท้องตลาด ส่วนใหญ่มักจะเป็นสารสังเคราะห์ที่นำมาปรุงแต่งให้มีกลิ่นคล้ายธรรมชาติ ดังนั้นจึงเห็นว่าการวิจัยเเพื่อศึกษาเทคนิคเพื่อพัฒนาวิธีการสกัดสารหอมจากไม้ดอกหอมไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเป็นการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปาและเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าไทย โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสกัดที่ถูกต้องและเหมาะสมในการสกัดสารหอมจากไม้ดอกหอมของไทย และ เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ ของประเทศ

ข้อมูลวิธีการสกัด

ทดลองสกัดสารหอมตามวิธีการสกัดสารที่มีกลิ่นหอมจากพืชโดยวิธีการที่ 1 -3 ตามที่มีรายงานในหนังสือ Perfume and Flavor Materials of Natural origin ของ Steffen Arctander 1960 ดังนี้
การกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับสารหอมที่เป็น Essential oil เพราะเป็นวิธีที่ประหยัด และได้สารหอมที่บริสุทธิ์
สกัดด้วยน้ำมันสัตว์ เป็นวิธีที่ใช้กันตั้งแต่สมัยโบราณใช้กับสารหอมที่ระเหยง่ายเวลากลั่นด้วยไอน้ำ วิธีนี้จะใช้เวลานานต้องแช่พืชไว้ในน้ำมันหลายวันน้ำมันจะช่วยดูดเอากลิ่นหอมออกมา วิธีนี้ในสมัยโบราณใช้ในการสกัดสารหอมจากดอกมะลิ ดอกกุหลาบ
สกัดด้วยสารเคมี การใช้สารเคมีสกัดจะได้น้ำมันที่มีความเข้มข้นสูงแต่คุณภาพไม่ดีเท่าการกลั่นเพราะจะมีสารอื่นละลายปะปนออกมาด้วย การสกัดแบบนี้จะได้น้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Absolute oil ใช้กับพืชที่ทนความร้อนสูงไม่ได้ เช่น มะลิ ที่สำคัญคือต้องทำการระเหยสารเคมีที่ใช้เป็นตัวสกัดออกให้หมด สารเคมีที่นิยมใช้คือ เฮกเซนแอลกอฮอล์
การคั้นหรือบีบโดยใช้แรงบีบ ใช้สกัดสารหอมที่เป็นน้ำมันอยู่ในเปลือกของผลไม้แต่น้ำมันที่ได้จะมีปริมาณน้อยและไม่ค่อยบริสุทธ์ เหมาะสำหรับวัตถุดิบที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง
สกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหลว โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกทำให้เป็นของเหลวที่ความดันสูง ผ่านตัวอย่างออกมา เป็นวิธีที่ปัจจุบันนิยมใช้กันมากเพราะจะได้สารหอมที่มีกลิ่นดี แต่ต้นทุนจะสูงมาก
สำหรับวิธีที่ 4 และ 5 นั้นไม่ได้ทำการทดลองวิธีที่ 4 ไม่เหมาะสมสำหรับดอกไม้ไทยเนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันหอมระเหยต่ำ ส่วนวิธีที่ 5 นั้นไม่มีอุปกรณ์

ข้อมูลไม้ดอกหอมของไทย

จากการรวบรวมรายชื่อพรรณไม้ดอกหอมที่ปลูกกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย พบว่ามีพรรณไม้ดอกหอมที่ปลูกทั่วไป อยู่มากกว่า 90 รายการ การปลูกไม้ดอกหอมในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นการปลูกเป็นไม้ประดับและตกแต่ง สถานที่ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่ปลูกในพื้นที่มากๆ ในเชิงพานิชย์ เช่น มะลิ จำปี ซ่อนกลิ่น กุหลาบ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอก ไม้ดอกหอมของไทยที่มีศักยภาพในการนำมาสกัดสารหอมในเชิงพาณิชย์ได้แก่ จำปี มะลิ ลั่นทม ซ่อนกลิ่น พิกุล กระดังงา ส่วนไม้ดอกหอมชนิดอื่นๆ หากมีการปลูกเป็นจำนวนมากก็สามารถที่นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้



วิธีการเก็บดอกไม้ไทย

การที่จะได้สารหอมที่มีคุณภาพดีนั้นวัตถุดิบที่นำมาสกัดต้องมีความสดและมีความเสียหายน้อยที่สุด จากการเก็บวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการสกัดพบว่าดอกไม้หอมของไทยบางชนิด เช่น ดอกพิกุล และดอกแก้ว มีขนาดเล็ก และบอบบางทำให้มีปัญหาในการเก็บ โดยเฉพาะดอกพิกุลที่มีฐานรองดอกหนาและมีขั้วค่อนข้างเหนียว นอกจากนั้นดอกยังบานไม่พร้อมกันทั้งช่อ ชาวบ้านที่เก็บดอกพิกุลขายให้กับร้านขายยาแผนโบราณส่วนใหญ่จะใช้วิธีกวาดเก็บกลีบดอกที่ร่วงใต้ต้นในตอนเช้าแล้วจึงนำมาทำความสะอาด ซึ่งหากนำมาสกัดน้ำหอมจะได้กลิ่นน้ำหอมที่ไม่ค่อยสด ส่วนดอกแก้วนอกจากจะบานไม่พร้อมกันทั้งช่อแล้ว ยังมีกลีบดอกที่บอบบาง บานแล้วร่วงเร็ว การใช้แรงงานในการเก็บทำได้ในปริมาญน้อยต่อวันไม่สามารถเก็บดอกไม้ที่มีปริมาณมากได้ทันในวัน การใช้เครื่องมือในการช่วยเก็บจึงมีความจำเป็น




จากการศึกษาพบว่าดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งวัน เช่น พิกุล จำปี สามารถเก็บได้ตลอดทั้งวัน ส่วนดอกไม้ที่หอมแรงเป็นช่วงเวลา เช่น ลั่นทม แก้ว และดอกมะนาว ควรเก็บในช่วงที่ดอกไม้ให้กลิ่นแรงที่สุด แล้วจึงนำลงถังสกัด นอกจากนั้นดอกไม้ที่จะนำลงถังสกัดด้วยวิธีสกัดด้วยตังทำละลายไม่ควรมีน้ำปนเปื้อน หากดอกไม้เปียกควรผึ่งให้แห้ง ไม่ควรแช่ดอกไม้ในน้ำแข็ง และไม่ควรเก็บดอกไม้ในช่วงเวลาที่มีฝนตกหรือหลังฝนตกใหม่ๆ เนื่องจากจะทำให้สารหอมที่สกัดได้ มีกลิ่นเหม็นบูดปนเปื้อน

การสกัดสารหอมจากดอกไม้

การทดลองสกัดสารหอมจากดอกไม้ไทยพบว่า ดอกจำปี ดอกมะนาว สามารถสกัดสารหอมได้ด้วยการกลั่นได้สารหอมในรูปของน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ในอัตรา 0.13 และ 0.18 %W/W ส่วน มะลิ ลั่นทม ซ่อนกลิ่น นั้น ไม่สามารถใช้วิธีการกลั่นได้ วิธีการสกัดที่ได้สารหอมที่ดีที่สุด คือการสกัดด้วยตัวทำละลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตสุดท้ายที่เรียกว่า แอบโซลูดออยล์ (Absolute oil) ดอกไม้อื่นๆ เช่น พิกุล แก้ว กระดังงา และดอกส้ม ถึงแม้จะมีรายงานว่าสามารถสกัดได้ด้วยการกลั่น แต่ในการทดลองนี้ได้ทดลองสกัดด้วยสารเคมีในรูปของแอบโซลูดออยล์
การสกัดสารหอมในรูปของ “แอบโซลูดออยล์” 





พรรณไม้หอมจัดเป็นพรรณพืชที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมไทยมากกลุ่มหนึ่ง มีความผูกพันกับคนไทยมายาวนาน ในวรรณกรรมหลายยุคหลายสมัย จะต้องมีบทกวีที่กล่าวถึงพรรณไม้หอมอยู่เสมอ พรรณไม้หอมหลายชนิด นอกจากให้ดอกหอมชื่นใจแล้ว ยังเป็นสมุนไพรใช้ผสมเป็นยารักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ และใช้เนื้อไม้ทำเครื่องใช้และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งมีป่าที่เป็นที่อยู่ของพรรณพืชต่าง ๆ ชนิดกันจำนวนมาก พรรณไม้หอมหลายชนิดพบในป่าของไทย บางชนิดนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ได้ปลูกกันไว้ใช้ประโยชน์มานานมาก ความรู้ที่คนไทยพื้นบ้าน ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน ในการใช้ประโยชน์ของพรรณพืชต่าง ๆ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทย ที่สมควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นความภูใจของคนรุ่นหลัง ซึ่งนับวันจะมีโอกาสได้สัมผัสความรู้เหล่านี้น้อยลงทุกที
บทความนี้เป็นรายงานเพียงส่วนหนึ่งของผลการวิจัยเรื่องการอนุรักษ์และ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืช ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การเจริญเติบโต การกระจายพันธุ์ การออกดอก ระยะเวลาการให้กลิ่นหอม การขยายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์พื้นบ้าน ในรายงานได้กล่าวถึงเพียง 16 ชนิด ได้แก่ กรรณิการ์ กระถินเทศ กระทิง กระเบา กันเกรา กุหลาบ จันทน์เทศ จำปา จำปี จำปีสีนวล นมแมว พญาสัตบรรณ พิกุล มะลิ ลำดวน และสารภี ซึ่งเป็นพรรณไม้หอมที่ให้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งนี้ได้รวมเกร็ดประวัติ และตำรับยาที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลไว้ด้วย เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นที่สนใจสำหรับท่านผู้อ่าน หวังว่าการวิจัยครั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่ศึกษา และสนับสนุนให้ศึกษาพรรณไม้กลุ่มนี้ให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

1. กรรณิการ์ Nyctanthes arbor-tritis Linn.
วงศ์ Verbenaceae
ชื่ออื่น กณิการ์, กรณิการ์ (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ Night Glooming Jasmine, Night Flower Jasmine, Night Blooming Jasmine, Tree of Sadness
กรรณิการ์ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบสาก ขอบใบเรียบหรือมีจักเล็กน้อย ดอกออกตามโคนก้านใบหรือปลายกิ่ง มีขนาดเล็กออกเป็นช่อ กลีบดอกมีสีขาว มี 6 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้ม มีกลิ่นหอมเย็นในเวลากลางคืน เดิมเป็นไม้ต่างประเทศ และนำเข้ามา ปลูกแพร่หลายในประเทศไทย ปลูกทั่วไปกลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอน หรือปักชำ
กรรณิการ์ ก้านดอกให้สีเหลืองแสดหรือสีส้ม ใช้ย้อมผ้าไหม หรือทำสีใส่ขนม รับประทานได้ ต้นแก้ปวดศีรษะ ใบบำรุงน้ำดี ดอกแก้ไขและลมวิงเวียน รากแก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก บำรุงผิวหนังให้สดชื่น ต้นและรากต้มรับประทานแก้ไอ

2. กระถินเทศ Acacia farnesiana (L.) Willd.
วงศ์ Mimosaceae
ชื่ออื่น กระถิน, กระถินเทศ (กรุงเทพ), กระถินหอม, คำใต้, ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), มอนคำ (แม่ฮ่องสอน), เกากรึนอง (กาญจนบุรี), ถิน (แถบคาบสมุทร), บุหงาเซียม (แหลมมาลายู), บุหงา (อินโดนีเซีย), บุหงาละสะมะนา (ปัตตานี)
ชื่อสามัญ Sponge Tree, Cassie Flower
กระถินเทศ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร มีหนามแหลมคมที่โคนก้านใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อย่อยมีใบย่อย 10-21 คู่ รูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายแหลม โคนตัดตรง ดอกสีเหลือง กลิ่นหอมตลอดวัน ออกเป็นช่อตามซอกใบเป็นกระจุกประมาณ 5 ช่อ ช่อดอกเป็นรูปกลมคล้ายดอกกระถิน มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ผลเป็นฝักโค้ง กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-7.5 ซม. เมล็ดรูปรี กว้าง 0.5 ซม. ยาว 0.7-0.8 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนทั่วโลก และมีดอกตลอดปี เดิมมาจากต่างประเทศ แต่ปลูกกันทั่วไปตามบ้านและวัด เนื่องจากใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ
สรรพคุณทางยา รากใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ยางของไม้นี้เรียกว่า กัมอะเคเซีย
ในอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ใช้ลำต้นกระถินเทศ 2-3 กิ่ง ตำหรือทุบแล้วนำมาต้มกับน้ำครึ่งลิตรพอเดือด ทิ้งให้อุ่น ให้หญิงคลอดลูกที่อ่อนเพลียเนื่องจากการตกเลือด ดื่มบำรุงหัวใจจะสดชื่นขึ้นทันที แต่จะให้ดื่มหลังจากการดื่มน้ำใบเสนียด โดยนำใบเสนียดสด 5 ใบ มาโขลกกับเกลือเล็กน้อยดื่มเพื่อห้ามเลือด ถ้ายังไม่หายอ่อนเพลียก็จะให้รับประทานน้ำต้มกิ่งกระถินเทศ แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ตามพื้นบ้านทั่วไป เป็นตำรับยาบำรุงหัวใจพื้นบ้านของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล แต่ผู้เขียนยังไม่ได้พิสูจน์

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

คำว่า "หอม" นั้น หมายถึง การรับรู้ของประสาทสัมผัสที่เรียกว่า ฆานประสาท เมื่อมีสารบางอย่าง ที่ให้กลิ่นกระจายอยู่ในอากาศ แล้วรับรู้ว่ากลิ่นนั้นเป็นที่พอใจ ซึ่งความพอใจนิยมชื่นชอบใจต่อกลิ่น ย่อมแตกต่างกันไป ตามความเคยชิน ตามกลุ่มเผ่าพันธุ์ และประเพณีของคน หรือกลุ่มคนนั้นๆ หากเป็นกลิ่นที่ไม่พอใจ ก็จะบอกว่า "เหม็น"

เรื่องของกลิ่นนั้น เป็นการยาก ที่จะกำหนด หรือจำแนก เป็นประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับตรงกัน จึงมักจะใช้เปรียบเทียบกับชนิดของพรรณไม้ หรือสิ่งอื่นๆ ที่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งใช้ได้เฉพาะกลุ่ม หรือท้องถิ่น หรือประเทศเท่านั้น เช่น คนไทยจะเข้าใจทันทีที่บอกว่า หอมเหมือนกลิ่นใบเตย ซึ่งหมายถึง ใบเตยหอม ที่คั้นน้ำจากใบมาปรุงแต่งอาหาร แต่สำหรับชนชาติ ที่ไม่เคยใช้ใบเตย ในการปรุงแต่งกลิ่นอาหาร ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่า เป็นอย่างไร เป็นต้น ในการขยายความเรื่องของกลิ่นหอมนั้น มีใช้กันหลายคำได้แก่ หอมเย็น หอมหวาน หอมฉุน หอมแรง หอมอ่อนๆ หอมเอียน หอมละมุน หอมฟุ้ง หรือหอมตลบ ตลอดจนหอมตลบอบอวล เป็นต้น

กลิ่นหอมที่ได้จากพืชนั้น เกิดมาจากน้ำมันหอมระเหย (essential oil หรือ volatile oil) ซึ่งเป็นผลพลอยได้ จากกระบวนการสร้างและสลาย (metabolism) ในเซลล์ของพืช แล้วเก็บไว้ในเซลล์ หรือปล่อยออกมาจากเซลล์ สะสมอยู่ในช่องว่างที่ขยายขนาดขึ้น มีลักษณะเป็นต่อม (gland) ที่ส่วนต่างๆ ของพืช น้ำมันหอมระเหยนี้บางกรณีไม่อยู่ตัว (unstable) จะเปลี่ยนไปตามกระบวนการเคมีได้ เป็นสารประกอบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น เป็นยาง (gum) และเรซิน (resin) สารที่ได้ใหม่นี้ มักจะรวมตัวกับน้ำมันหอมระเหย ที่ยังเหลืออยู่ แล้วถูกลำเลียงจากที่สร้าง ไปยังส่วนอื่นๆ ของพืช อาจจะเป็นใบ ดอก ผล เมล็ด เหง้า ราก ต้น ที่ใดที่หนึ่ง หรือทุกส่วน แล้วแต่ชนิดของพืช นอกจากนั้น พืชบางชนิดปกติไม่สร้างน้ำมันหอมระเหย แต่ถ้าถูกกระตุ้น โดยมีเชื้อราเข้าไปตามแผล ก็จะเกิดกระบวนการสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นได้ ดังที่พบในไม้เนื้อหอมหลายชนิด ส่วนการที่มนุษย์หรือสัตว์บางชนิด จะได้กลิ่นหอม เกิดจากน้ำมันหอมระเหย ในพืชระเหยออกมา เมื่อสัมผัสกับอากาศ เกิดปฏิกิริยา ทำให้เกิดกลิ่นฟุ้งกระจาย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ส่วนใหญ่เกิด เมื่อดอกไม้บาน หรือผลไม้สุก ดังนั้นกลิ่นหอมในธรรมชาติจริงๆ จึงมักจะมาจากดอกไม้ หรือผลไม้ แต่กลิ่นหอมจากใบหรือส่วนอื่นๆ ของพืช มักจะต้องทำให้เกิดขึ้น โดยผ่านกรรมวิธีต่างๆ และที่สะดวกที่สุดคือ ใช้วิธีทำให้ใบช้ำหรือขยี้ ถ้าเป็นต้น ราก เมล็ด ใช้วิธีบด หรือฝน หรือเผา หรือต้ม เป็นต้น

กลิ่นหอมของดอกไม้นั้น เกิดจากพืชบางชนิดมีน้ำมันหอมระเหยที่เซลล์พิเศษ หรือที่ต่อม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของดอก เช่น ฐานรองดอก กลีบดอก เกสรเพศผู้ หรือเกสรเพศเมีย กลิ่นที่เกิดขึ้นนี้ ในธรรมชาติจะช่วยดึงดูดแมลงให้มาตอมดอกไม้ มีผลทำให้เกิดการนำละอองเรณู ไปตกที่ยอดเกสรเพศเมีย ทำให้เกิดเมล็ดและผลต่อไป ซึ่งเป็นวิธีหนึ่ง ที่ทำให้หลังจากพืชผลิดอกแล้วออกผลหลังจากนั้น แต่แมลงหรือสัตว์อื่นๆ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมาที่ดอกไม้ เพื่อสูดกลิ่นหอม แต่มาที่ดอกไม้ เพื่อกินน้ำหวาน หรือละอองเรณูของดอกไม้ (ส่วนพืชที่ดอกไม่มีกลิ่นนั้น มักจะมีสีสัน รูปทรงของดอก หรือมีต่อมน้ำหวาน ที่ล่อแมลงหรือสัตว์อื่น ให้มาที่ดอก เพื่อช่วยในการผสมเกสร) นอกจากนั้นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมยังดึงดูดมนุษย์ให้ชื่นชอบด้วย และมนุษย์เราไม่เพียงแต่ชอบได้กลิ่นหอมจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น เมื่อดอกไม้บานเท่านั้น เรายังนำกลิ่นหอมจากพรรณไม้ มาใช้ในการทำเครื่องสำอาง อบร่ำเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนบ้านเรือนอีกด้วย และมีหลักฐานการใช้มาไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี เดิมอาจจะใช้ดอกไม้โดยตรง แต่ต่อมาได้มีการคิดค้นวิธีการต่างๆ สกัดกลิ่นหอมออกมา ให้ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรุงแต่ง จนได้กลิ่นหอมต่างๆ ตามแต่รสนิยม ได้เป็นน้ำหอม ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และจากวรรณคดี จะเห็นได้ว่า ชีวิตคนไทยมีความใกล้ชิด และผูกพันกับพรรณไม้เป็นอย่างมาก นอกจากจะใช้พรรณไม้ในพื้นฐานของปัจจัยสี่ เพื่อดำรงชีวิตแล้ว ยังเป็นที่มาของจินตนาการต่างๆ ในวรรณคดีเป็นไม้ประดับ เป็นวัสดุ ที่นำมาเป็นแบบอย่าง หรือดัดแปลงตกแต่ง อันเป็นที่มาของศิลปะภาพวาด ภาพแกะสลัก การก่อสร้างต่างๆ ในงานประเพณีทุกประเภท ไม่มีงานใด ที่ไม่ใช้พันธุ์ไม้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และมีความหมายต่องานนั้นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องของกลิ่นหอม ยังเป็นเรื่องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากการที่ คนไทยนิยมข้าวปลาอาหาร ที่มีกลิ่นหอม เช่น ข้าว เราก็คัดพันธุ์ จนได้ข้าวหอมมะลิ ขนมต่างๆ ปรุงแต่งด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้ ใบไม้ แม้แต่น้ำดื่ม ก็ยังนิยมน้ำลอยดอกมะลิ นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ในเรื่องของเครื่องหอม ที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง อบร่ำ เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนยาพื้นบ้าน ก็จะใช้ของหอมต่างๆ มาปรุงแต่งให้เกิดกลิ่นตามความนิยม คนไทยนิยมใช้น้ำอบไทย หรือน้ำปรุงกันโดยทั่วไป ในสมัยก่อน ที่น้ำหอมจากยุโรปจะเข้ามาขาย ทั้งน้ำอบไทย และน้ำปรุง ได้มาจากกรรมวิธีสกัดกลิ่นจากดอกไม้เป็นหลัก และดอกไม้ที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ มะลิ กุหลาบ กระดังงา ชำมะนาด ฯลฯ

ในเรื่องของเครื่องหอมที่ได้จากพืช ที่คนไทยนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต และบางอย่างก็ยังใช้จนถึงปัจจุบันนั้น ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ได้เขียนถึงของหอม ที่ใช้ในการทำเครื่องหอมต่างๆ ที่ได้จากส่วนอื่นๆ ของพรรณไม้ ที่ไม่ใช่จากดอกไม้ไว้ ๑๐ อย่าง ดังนี้

๑. กฤษณา

มีลักษณะเป็นแก่นไม้สีดำคล้ำ หรือดำปนน้ำตาล ที่เกิดจากต้นกฤษณา (Aquilaria malaccensis Lamk. หรือ A. crassna Pierre ex H. Lec.) เกิดเป็นแผลแล้วมีเชื้อราบางชนิดเข้าไปเจริญ เติบโตในเนื้อไม้ ทำให้ต้นกฤษณา ซึ่งเดิมมีเนื้อไม้อ่อน เปลี่ยนเป็นเนื้อไม้แข็ง และมีกลิ่นหอม แก่นไม้ที่หอมนี้ นำมาใช้ปรุงแต่งเครื่องสำอาง ผสมเป็นเครื่องให้กลิ่น ในงานพิธีกรรม หรือใช้เป็นเครื่องปรุงยาตามตำรับโบราณ กฤษณาเป็นเครื่อง หอมที่นิยมใช้กันมากในประเทศต่างๆ แถบเอเชีย

๒. เทพทาโร

ได้จากต้นเทพทาโร หรือต้นจวง หรือจวงหอม (Cinnamomun porrectum Kosterm.) เป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกับอบเชย เนื้อไม้มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร ในสมัยโบราณใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ กันมด ปลวก และแมลงต่างๆ ได้ดี หรือใช้ปรุงแต่งยา หรือนำ ไปใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ โดยเผาหรืออบให้ เกิดกลิ่นกระจายไป

๓. จันทน์แดง

ได้จากแก่นของจันทน์แดง หรือจันทน์ผา หรือลักกะจันทน์ (Dracaena loureiri Gagnep.) วิธีการเกิดแก่นจันทน์แดงคล้ายกับการเกิดแก่นกฤษณา คือ ต้นมีแผล แล้วมีเชื้อราเข้าไปเจริญเติบโต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน บริเวณโคนต้น เป็นแก่นสีแดงและมีกลิ่นหอม

๔. จันทน์ชะมด

ได้จากเนื้อไม้ของจันทน์ชะมด ซึ่งมีอยู่ ๒ ชนิดคือ Mansonia gagei Drumm. ในวงศ์ Sterculiaceae และAglaia pyramidata Hance ในวงศ์ Meliaceae ซึ่งเนื้อไม้แห้ง มีกลิ่นหอมแรงกว่า เมื่อยังสด

๕. กระแจะ

ได้จากเนื้อไม้ของต้นกระแจะ หรือขะแจะ หรือตุมตัง หรือพญายา (Hesperethusa crenulata Roem.) ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับพวกส้มต่างๆ เนื้อไม้แห้งมีกลิ่นหอม ใช้ฝนทาผิว ทำให้ผิวนวล และหอม

๖. ชะลูด หรือนูด

(Alyxia reinwardtii Bl.) เป็นไม้เถา เนื้อไม้หอม ใช้ได้ทั้งสดและแห้ง นำมาอบผ้า กลิ่นติดทนนาน หรือแต่งกลิ่นแป้งร่ำ ดอกของพันธุ์ไม้ชนิดนี้มีขนาดเล็ก และมีกลิ่น หอมเช่นกัน

๗. ลูกซัด

เป็นเมล็ดของพันธุ์ไม้จำพวกถั่ว (Trigonella faenogrecum Linn.) ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นแถบเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วเขียว แต่เล็กกว่า เมล็ดแห้งมีกลิ่นหอม และจะหอมมากขึ้น เมื่อนำมาต้มกับน้ำ คนไทยในสมัยก่อนโดย เฉพาะชาววัง นิยมนำเครื่องนุ่งห่มไปต้มกับลูกซัด ทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอมทนนาน ในอินเดียและจีน ใช้เมล็ดปรุงอาหาร ทำยารักษาโรค และบางครั้ง ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

๘. กำยาน

ได้จากยางหรือชันของต้นกำยาน (Styrax spp.) ซึ่งเมื่อไหลออกมาจากต้นแล้ว จับตัวเป็นก้อนแข็ง เมื่อนำไปเผาไฟ จะมีกลิ่นหอม ใช้เป็นส่วนผสมในธูปแขก หรือใช้ในการอบร่ำต่างๆ และมีการนำไปทำยารักษาโรคได้ด้วย

๙. จันทนา

เป็นเนื้อไม้ที่มีกลิ่นหอม ได้จากต้นจันทนา หรือที่เรียกในชื่ออื่นๆ ได้แก่ จันทน์ขาว จันทน์หอม จันตะเนี้ย และจันทน์ใบเล็ก (Tarenna hoaensis Pitard) ใช้เนื้อไม้บดหรือฝน ผสมน้ำ นำไปปรุงแต่งเป็นเครื่องหอม และใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ

๑๐. มดยอบ

เป็นชันไม้ของต่างประเทศ ได้มาจากพันธุ์ไม้หลายชนิดในสกุล Commiphora ยางหรือชันมีสีแดงอมเหลือง หรือน้ำตาลอมแดง ใช้ทำยา แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง และใช้ในพิธีทางศาสนา

ไม้ดอกหอม

ไม้ดอกหอม หมายถึง พรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ดอกมีกลิ่นหอมอันเนื่องมาจากต่อมน้ำหอมที่มีอยู่ภายในดอกผลิตสารหอมระเหย ส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายได้แตกต่างกันตามแต่ละชนิดของพืชว่ามีความหอมแบบไหน อีกทั้งระดับความหอมว่ามีทั้งที่หอมมากก หอมน้อย และหอมอ่อน ๆ นอกจากนี้ยังมีช่วงเวลาในการส่งกลิ่นหอมได้ไม่ตรงกัน บางชนิดหอมตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน หลายชนิดส่งกลิ่นหอมได้เฉพาะช่วงเวลา เช่น หอมเมื่อเริ่มแย้มในช่วงพลบค่ำ หรือว่าหอมในยามดึก เช้าตรู่ ช่วงสาย ยามบ่าย จนกระทั่งถึงช่วงเย็น ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน หากจะมองย้อนลงไปในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกกันไว้เป็นตำรา หรือปรากฏอยู่ในวรรณคดีที่มีการประพันธ์กันไว้ในสมัยต่าง ๆ ก็จะพบว่าไม้ดอกหอมได้รับความนิยมมาโดยตลอด ดังเช่น ในสมัยสุโขทัย จาก ไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงไม้ดอกหอมบางชนิดที่รู้จักกันในสมัยนี้ เช่น จำปี พุด ลำดวน และยังได้กล่าวเกสรทั้งห้า เกสรทั้งเจ็ด และเกสรทั้งเก้า ที่ มีการนำมาใช้ในตำรายาไทย ซึ่งก็ได้มาจากไม้ดอกหอมชนิดต่าง ๆ กัน อาทิเช่น มะลิ สารภี บุนนาค บัวหลวง เป็นต้น พรรณไม้ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นไม้ไทยที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย หรือกระจายพันธุ์มาจากประเทศใกล้เคียง

ลักษณะของพรรณไม้ดอกหอม

พรรณไม้ดอกหอมที่มีการปลูกกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตามบันทึกดังกล่าว จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่มีการคัดเลือกมาจากป่า มีอายุยืนเมื่อปลูกครั้งเดียวก็สามารถใช้ประดับ ไป ได้เป็นระยะเวลายาวนาน เนื่องจากเป็นไม้ไทยพื้นเมือง เมื่อนำมาปลูกแล้วสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพถิ่นที่ปลูกใหม่ได้เป็นอย่าง ดี มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลง แต่อย่างใด ใน ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกับสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เริ่มมีการนำพรรณไม้หอมจากต่างประเทศเข้ามาปลูกกันมาก จะพบว่าลักษณะของพรรณไม้หอมมีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งชนิดที่เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่มรอเลื้อย และพรรณไม้น้ำหลายชนิด ยิ่งในยุคปัจจุบันด้วยแล้ว ลักษณะของพรรณไม้ดอกหอมก็ยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งไม้ล้มลุกหลายชนิดที่กำลังได้รับความนิยม มีพันธุ์ลูกผสมที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จำนวนมาก โดยบางชนิดมีการปลูกกันจำนวนมากจนกลายเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจ เช่น กุหลาบ กล้วยไม้ และบัว เป็นต้น

จุดเด่นของไม้ดอกหอม

กลิ่นหอมเย็นชื่นใจของพรรณไม้หอมเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญดลใจให้ผู้คนต้องไปเลือก สรรแต่ละชนิดมาปลูกเลี้ยงกันตามต้องการ โดยทั่วไปหรือส่วนใหญ่ ดอกไม้ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความหอมมักจะมีกลีบดอกสีขาวหรือสีอ่อน ๆ ดอกบานในช่วงเวลากลางคืน ส่งกลิ่นหอมในยามค่ำคืน ต่างกับดอกไม้ที่ไร้กลิ่นหอมและบานในตอนกลางวัน ที่มักมีสีสันรูปร่างเด่นสะดุดตาอย่าง ไรก็ตาม มีพรรณไม้ดอกหอมหลายชนิดที่บานและส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลากลางวันจึงเท่ากับ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่ชื่นชอบไม้หอมได้เชยชมกลิ่นกันอย่างจุใจ ยิ่งหากว่าพรรณไม้ดอกหอมเหล่านั้นมีรูปร่างสวยงามหรือมีสีสันเด่นสะดุดตา ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์มากขึ้นเป็นทวีคูณลักษณะ ของดอกอาจเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อที่แทงออกมาบานอยู่ตามลำต้นกิ่ง ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือตามปลายยอด ทยอยกันผลิบานชูช่ออวดโฉมกันอยู่วันแล้ววันเล่า ซึ่งนับวันจะมีรูปร่าง สีสันเด่นสะดุดตามากขึ้น และกลิ่นหอมที่ประทับใจมากขึ้น เพื่อใช้ปลูกประดับ หรือเพื่อเก็บเอาดอกไม้เหล่านี้ไปอบกลิ่นหอมหรือนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พันธุ์ไม้หอมที่มีอยู่เดิม 39 ชนิด
                            กรรณนิกา                                

กระดังงาไทย

กระดังงาสงขลา

กระทิง

กุมาริกาด่าง

กระทุ่มนา

แก้ว

เขี้ยวกระแต

คัดเค้า

จัน

จำปีสิริธร

ต้นหยง

ประยงค์

บุหง่าสาหรี่

ปีบ

พลับพลึงใหญ่ดอกสีขาว

พะยอม

พิกุล

พุดซ้อน

พุดสวน

มะลิซ้อน

แย้มปีนัง

รวงผึ้ง

ราชาวดี

ลัดดาวัลย์

ลั่นทมขาว

ลั่นทมแดง

สายหยุด