วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556


ประเทศไทยมีไม้ดอกหอมหลากหลายชนิดที่อาจนำมาสกัดสารหอมเพื่อใช้ในธุรกิจสปา และ สุวคนธบำบัดได้ เช่น พิกุล แก้ว กระดังงา ปีบ ฯลฯ ซึ่งกลิ่นหอมจากดอกไม้เหล่านี้ที่เป็นของแท้จากธรรมชาติยังมีน้อยมากในท้องตลาด ส่วนใหญ่มักจะเป็นสารสังเคราะห์ที่นำมาปรุงแต่งให้มีกลิ่นคล้ายธรรมชาติ ดังนั้นจึงเห็นว่าการวิจัยเเพื่อศึกษาเทคนิคเพื่อพัฒนาวิธีการสกัดสารหอมจากไม้ดอกหอมไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเป็นการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปาและเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าไทย โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสกัดที่ถูกต้องและเหมาะสมในการสกัดสารหอมจากไม้ดอกหอมของไทย และ เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ ของประเทศ

ข้อมูลวิธีการสกัด

ทดลองสกัดสารหอมตามวิธีการสกัดสารที่มีกลิ่นหอมจากพืชโดยวิธีการที่ 1 -3 ตามที่มีรายงานในหนังสือ Perfume and Flavor Materials of Natural origin ของ Steffen Arctander 1960 ดังนี้
การกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับสารหอมที่เป็น Essential oil เพราะเป็นวิธีที่ประหยัด และได้สารหอมที่บริสุทธิ์
สกัดด้วยน้ำมันสัตว์ เป็นวิธีที่ใช้กันตั้งแต่สมัยโบราณใช้กับสารหอมที่ระเหยง่ายเวลากลั่นด้วยไอน้ำ วิธีนี้จะใช้เวลานานต้องแช่พืชไว้ในน้ำมันหลายวันน้ำมันจะช่วยดูดเอากลิ่นหอมออกมา วิธีนี้ในสมัยโบราณใช้ในการสกัดสารหอมจากดอกมะลิ ดอกกุหลาบ
สกัดด้วยสารเคมี การใช้สารเคมีสกัดจะได้น้ำมันที่มีความเข้มข้นสูงแต่คุณภาพไม่ดีเท่าการกลั่นเพราะจะมีสารอื่นละลายปะปนออกมาด้วย การสกัดแบบนี้จะได้น้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Absolute oil ใช้กับพืชที่ทนความร้อนสูงไม่ได้ เช่น มะลิ ที่สำคัญคือต้องทำการระเหยสารเคมีที่ใช้เป็นตัวสกัดออกให้หมด สารเคมีที่นิยมใช้คือ เฮกเซนแอลกอฮอล์
การคั้นหรือบีบโดยใช้แรงบีบ ใช้สกัดสารหอมที่เป็นน้ำมันอยู่ในเปลือกของผลไม้แต่น้ำมันที่ได้จะมีปริมาณน้อยและไม่ค่อยบริสุทธ์ เหมาะสำหรับวัตถุดิบที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง
สกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหลว โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกทำให้เป็นของเหลวที่ความดันสูง ผ่านตัวอย่างออกมา เป็นวิธีที่ปัจจุบันนิยมใช้กันมากเพราะจะได้สารหอมที่มีกลิ่นดี แต่ต้นทุนจะสูงมาก
สำหรับวิธีที่ 4 และ 5 นั้นไม่ได้ทำการทดลองวิธีที่ 4 ไม่เหมาะสมสำหรับดอกไม้ไทยเนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันหอมระเหยต่ำ ส่วนวิธีที่ 5 นั้นไม่มีอุปกรณ์

ข้อมูลไม้ดอกหอมของไทย

จากการรวบรวมรายชื่อพรรณไม้ดอกหอมที่ปลูกกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย พบว่ามีพรรณไม้ดอกหอมที่ปลูกทั่วไป อยู่มากกว่า 90 รายการ การปลูกไม้ดอกหอมในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นการปลูกเป็นไม้ประดับและตกแต่ง สถานที่ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่ปลูกในพื้นที่มากๆ ในเชิงพานิชย์ เช่น มะลิ จำปี ซ่อนกลิ่น กุหลาบ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอก ไม้ดอกหอมของไทยที่มีศักยภาพในการนำมาสกัดสารหอมในเชิงพาณิชย์ได้แก่ จำปี มะลิ ลั่นทม ซ่อนกลิ่น พิกุล กระดังงา ส่วนไม้ดอกหอมชนิดอื่นๆ หากมีการปลูกเป็นจำนวนมากก็สามารถที่นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้



วิธีการเก็บดอกไม้ไทย

การที่จะได้สารหอมที่มีคุณภาพดีนั้นวัตถุดิบที่นำมาสกัดต้องมีความสดและมีความเสียหายน้อยที่สุด จากการเก็บวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการสกัดพบว่าดอกไม้หอมของไทยบางชนิด เช่น ดอกพิกุล และดอกแก้ว มีขนาดเล็ก และบอบบางทำให้มีปัญหาในการเก็บ โดยเฉพาะดอกพิกุลที่มีฐานรองดอกหนาและมีขั้วค่อนข้างเหนียว นอกจากนั้นดอกยังบานไม่พร้อมกันทั้งช่อ ชาวบ้านที่เก็บดอกพิกุลขายให้กับร้านขายยาแผนโบราณส่วนใหญ่จะใช้วิธีกวาดเก็บกลีบดอกที่ร่วงใต้ต้นในตอนเช้าแล้วจึงนำมาทำความสะอาด ซึ่งหากนำมาสกัดน้ำหอมจะได้กลิ่นน้ำหอมที่ไม่ค่อยสด ส่วนดอกแก้วนอกจากจะบานไม่พร้อมกันทั้งช่อแล้ว ยังมีกลีบดอกที่บอบบาง บานแล้วร่วงเร็ว การใช้แรงงานในการเก็บทำได้ในปริมาญน้อยต่อวันไม่สามารถเก็บดอกไม้ที่มีปริมาณมากได้ทันในวัน การใช้เครื่องมือในการช่วยเก็บจึงมีความจำเป็น




จากการศึกษาพบว่าดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งวัน เช่น พิกุล จำปี สามารถเก็บได้ตลอดทั้งวัน ส่วนดอกไม้ที่หอมแรงเป็นช่วงเวลา เช่น ลั่นทม แก้ว และดอกมะนาว ควรเก็บในช่วงที่ดอกไม้ให้กลิ่นแรงที่สุด แล้วจึงนำลงถังสกัด นอกจากนั้นดอกไม้ที่จะนำลงถังสกัดด้วยวิธีสกัดด้วยตังทำละลายไม่ควรมีน้ำปนเปื้อน หากดอกไม้เปียกควรผึ่งให้แห้ง ไม่ควรแช่ดอกไม้ในน้ำแข็ง และไม่ควรเก็บดอกไม้ในช่วงเวลาที่มีฝนตกหรือหลังฝนตกใหม่ๆ เนื่องจากจะทำให้สารหอมที่สกัดได้ มีกลิ่นเหม็นบูดปนเปื้อน

การสกัดสารหอมจากดอกไม้

การทดลองสกัดสารหอมจากดอกไม้ไทยพบว่า ดอกจำปี ดอกมะนาว สามารถสกัดสารหอมได้ด้วยการกลั่นได้สารหอมในรูปของน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ในอัตรา 0.13 และ 0.18 %W/W ส่วน มะลิ ลั่นทม ซ่อนกลิ่น นั้น ไม่สามารถใช้วิธีการกลั่นได้ วิธีการสกัดที่ได้สารหอมที่ดีที่สุด คือการสกัดด้วยตัวทำละลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตสุดท้ายที่เรียกว่า แอบโซลูดออยล์ (Absolute oil) ดอกไม้อื่นๆ เช่น พิกุล แก้ว กระดังงา และดอกส้ม ถึงแม้จะมีรายงานว่าสามารถสกัดได้ด้วยการกลั่น แต่ในการทดลองนี้ได้ทดลองสกัดด้วยสารเคมีในรูปของแอบโซลูดออยล์
การสกัดสารหอมในรูปของ “แอบโซลูดออยล์” 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น