วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556




พรรณไม้หอมจัดเป็นพรรณพืชที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมไทยมากกลุ่มหนึ่ง มีความผูกพันกับคนไทยมายาวนาน ในวรรณกรรมหลายยุคหลายสมัย จะต้องมีบทกวีที่กล่าวถึงพรรณไม้หอมอยู่เสมอ พรรณไม้หอมหลายชนิด นอกจากให้ดอกหอมชื่นใจแล้ว ยังเป็นสมุนไพรใช้ผสมเป็นยารักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ และใช้เนื้อไม้ทำเครื่องใช้และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งมีป่าที่เป็นที่อยู่ของพรรณพืชต่าง ๆ ชนิดกันจำนวนมาก พรรณไม้หอมหลายชนิดพบในป่าของไทย บางชนิดนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ได้ปลูกกันไว้ใช้ประโยชน์มานานมาก ความรู้ที่คนไทยพื้นบ้าน ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน ในการใช้ประโยชน์ของพรรณพืชต่าง ๆ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทย ที่สมควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นความภูใจของคนรุ่นหลัง ซึ่งนับวันจะมีโอกาสได้สัมผัสความรู้เหล่านี้น้อยลงทุกที
บทความนี้เป็นรายงานเพียงส่วนหนึ่งของผลการวิจัยเรื่องการอนุรักษ์และ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืช ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การเจริญเติบโต การกระจายพันธุ์ การออกดอก ระยะเวลาการให้กลิ่นหอม การขยายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์พื้นบ้าน ในรายงานได้กล่าวถึงเพียง 16 ชนิด ได้แก่ กรรณิการ์ กระถินเทศ กระทิง กระเบา กันเกรา กุหลาบ จันทน์เทศ จำปา จำปี จำปีสีนวล นมแมว พญาสัตบรรณ พิกุล มะลิ ลำดวน และสารภี ซึ่งเป็นพรรณไม้หอมที่ให้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งนี้ได้รวมเกร็ดประวัติ และตำรับยาที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลไว้ด้วย เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นที่สนใจสำหรับท่านผู้อ่าน หวังว่าการวิจัยครั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่ศึกษา และสนับสนุนให้ศึกษาพรรณไม้กลุ่มนี้ให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

1. กรรณิการ์ Nyctanthes arbor-tritis Linn.
วงศ์ Verbenaceae
ชื่ออื่น กณิการ์, กรณิการ์ (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ Night Glooming Jasmine, Night Flower Jasmine, Night Blooming Jasmine, Tree of Sadness
กรรณิการ์ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบสาก ขอบใบเรียบหรือมีจักเล็กน้อย ดอกออกตามโคนก้านใบหรือปลายกิ่ง มีขนาดเล็กออกเป็นช่อ กลีบดอกมีสีขาว มี 6 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้ม มีกลิ่นหอมเย็นในเวลากลางคืน เดิมเป็นไม้ต่างประเทศ และนำเข้ามา ปลูกแพร่หลายในประเทศไทย ปลูกทั่วไปกลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอน หรือปักชำ
กรรณิการ์ ก้านดอกให้สีเหลืองแสดหรือสีส้ม ใช้ย้อมผ้าไหม หรือทำสีใส่ขนม รับประทานได้ ต้นแก้ปวดศีรษะ ใบบำรุงน้ำดี ดอกแก้ไขและลมวิงเวียน รากแก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก บำรุงผิวหนังให้สดชื่น ต้นและรากต้มรับประทานแก้ไอ

2. กระถินเทศ Acacia farnesiana (L.) Willd.
วงศ์ Mimosaceae
ชื่ออื่น กระถิน, กระถินเทศ (กรุงเทพ), กระถินหอม, คำใต้, ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), มอนคำ (แม่ฮ่องสอน), เกากรึนอง (กาญจนบุรี), ถิน (แถบคาบสมุทร), บุหงาเซียม (แหลมมาลายู), บุหงา (อินโดนีเซีย), บุหงาละสะมะนา (ปัตตานี)
ชื่อสามัญ Sponge Tree, Cassie Flower
กระถินเทศ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร มีหนามแหลมคมที่โคนก้านใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อย่อยมีใบย่อย 10-21 คู่ รูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายแหลม โคนตัดตรง ดอกสีเหลือง กลิ่นหอมตลอดวัน ออกเป็นช่อตามซอกใบเป็นกระจุกประมาณ 5 ช่อ ช่อดอกเป็นรูปกลมคล้ายดอกกระถิน มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ผลเป็นฝักโค้ง กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-7.5 ซม. เมล็ดรูปรี กว้าง 0.5 ซม. ยาว 0.7-0.8 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนทั่วโลก และมีดอกตลอดปี เดิมมาจากต่างประเทศ แต่ปลูกกันทั่วไปตามบ้านและวัด เนื่องจากใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ
สรรพคุณทางยา รากใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ยางของไม้นี้เรียกว่า กัมอะเคเซีย
ในอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ใช้ลำต้นกระถินเทศ 2-3 กิ่ง ตำหรือทุบแล้วนำมาต้มกับน้ำครึ่งลิตรพอเดือด ทิ้งให้อุ่น ให้หญิงคลอดลูกที่อ่อนเพลียเนื่องจากการตกเลือด ดื่มบำรุงหัวใจจะสดชื่นขึ้นทันที แต่จะให้ดื่มหลังจากการดื่มน้ำใบเสนียด โดยนำใบเสนียดสด 5 ใบ มาโขลกกับเกลือเล็กน้อยดื่มเพื่อห้ามเลือด ถ้ายังไม่หายอ่อนเพลียก็จะให้รับประทานน้ำต้มกิ่งกระถินเทศ แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ตามพื้นบ้านทั่วไป เป็นตำรับยาบำรุงหัวใจพื้นบ้านของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล แต่ผู้เขียนยังไม่ได้พิสูจน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น